===Not Click=== ===Not Click===

“หน้าผากแม่นาคพระโขนง”จากสมเด็จโต หลวงพ่อพริ้ง และเสด็จเตี่ย ก่อนที่จะลาจาก




หากกกล่าวถึงแม่นาคพระโขนง เป็นเรื่องราวตำนานรักที่ถูกเล่าขานและนำมาสร้างละครสร้างหนังกันมาหลายยุคหลายสมัย รวมถึงศาลแม่นาคที่มีคนแวะเวียนมาสักการบูชา วันนี้ได้นำเรื่องราว “หน้าผากแม่นาคพระโขนง”จากสมเด็จโต หลวงพ่อพริ้ง และเสด็จเตี่ย มาให้ทุกท่านได้อ่านและศึกษา ไปชมกันเลย

หลวงพ่อพริ้งวัดบางประกอกไปมาหาสู่ระหว่างวัดกับวังนางเลิ้งเสมอ โอรสเสด็จในกรมฯพระองค์หนึ่งคือ หม่อมเจ้าคำแดงฤทธิ์ เคยประชวรหนัก รักษาทั้งยาฝรั่ง ยาไทย เวทมนตร์คาถาก็ไม่หาย เสด็จในกรมฯเลยรับสั่งให้บนบวช ๑๐ วัน ปรากฏว่าได้ผล หายประชวรทั้งครอบครัวเลยต้องไปจำศีลอยู่ที่วัดบางประกอกเกือบเดือน


หน้าผากแม่นาคพระโขนงนั้นตกทอดเป็นลำดับจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มาถึงหม่อมเจ้าพระพุทธปาธปิลันทร์และหลวงพ่อพริ้ง เล่ากันสืบมาว่า สมัยนั้นแม่นาคอาละวาดผู้คน ชาวบ้าน พระ เณรแถบย่านคุ้งน้ำพระโขนงจนได้รับความเดือดร้อน สมเด็จโตจึงต้องเดินทางไปปราบด้วยพุทธคุณ แกะกะโหลกแม่นาคขนาดความกว้างประมาณ นิ้วครึ่ง – ๒ นิ้ว ยาว ๔ นิ้ว (โดยประมาณ) มาขัดมันลงอักขระ ปิดทองและติดย่ามไปไหนด้วยเสมอ แม้ว่าแม่นาคจะซาบซึ้งในรสธรรมแต่ก็ยังคงมีนิสัยชอบหยอกล้อสามเณรอยู่เหมือนเดิม

ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร ณ อยุธยา เมื่อครั้นที่มาบวชเป็นสามเณรที่วัดระฆังก็โดนการหยอกล้อจนสมเด็จโตต้องล้วงกะโหลกแม่นาคออกจากย่ามแล้วบอกว่า โยมนาคอย่าไปกวนสามเณรเลย เมื่อกะโหลกแม่นาคตกทอดมาถึงพระพุทธปาธปิลันทร์ก็มีการกล่าวตักเตือนกันอีก หลังจากที่หลวงพ่อพริ้งส่งมอบกะโหลกแม่นาคให้กรมหลวงชุมพรฯ พระองค์ท่านทรงเอามาเจาะรูทำเป็นปั้นเหน่งรัดบั้นพระองค์ติดตัวไปด้วยเสมอ เมื่อประทับอยู่ในตำหนักจะใส่พานวางไว้ที่ห้องพระ และทรงบอกเล่าให้หม่อมทุกคนได้ฟังเพื่อให้รับรู้ถึงความสำคัญ กระนั้นแม่นาคก็เคยปรากฏกลิ่นถึง ๒ ครั้งที่ตำหนักนางเลิ้ง


หม่อมแจ่มหรือหม่อมองค์น้อยนั้นเป็นคนกล้าหาญ ไม่ค่อยเกรงกลัวใคร นอกเหนือจากเสด็จในกรมฯเท่านั้น วันหนึ่งเพื่อน ๆ ของหม่อมได้แวะมาเยี่ยมเยือน การสนทนาวันนั้นได้วกเข้าหาเรื่องแม่นาคจนเกิดการท้ากันว่า หากหม่อมไม่กลัวก็ให้เดินเข้าห้องพระ เมื่อหม่อมแจ่มเดินเข้าห้องพระ ปรากฏว่ามีกลิ่นเหม็นเน่าคละคลุ้งไปหมดจนต้องเผ่นหนีออกมาจากห้องพระ

เสด็จในกรมฯ ตรัสว่า คนที่แม่นาคไม่พอใจจะเห็นร่างของแม่นาคในแบบที่น่ากลัวมีกลิ่นเหม็น ดังนั้นจึงไม่ควรไปท้าเขากลัวหรือไม่กลัวก็เฉย ๆ ซะ ส่วนคนที่แม่นาคพอใจจะมาหยอกล้อด้วยแบบที่สวยงาม กลิ่นหอมชื่นใจ

อีกคราวหนึ่งขณะกำลังเสวยพระกระยาหารอยู่นั้น พระองค์ได้ตรัสกับบรรดาหม่อมทั้งหลายว่า ใครอยากจะคุยกับแม่นาคก็ได้ หม่อมแจ่มอีกนั่นแหละที่ขอทดสอบ เสด็จในกรมฯจึงส่งหน้าผากแม่นาคให้ เมื่อถึงเวลาเข้านอน หม่อมแจ่มได้อธิษฐานขอให้แม่นาคมาอย่างงดงาม สักครู่ใหญ่ๆจึงได้กลิ่นเหม็นไหม้ ยิ่งนานก็ยิ่งอบอวลหนักขึ้น หม่อมแจ่มจึงรีบนำเอากะโหลกหน้าผากแม่นาคไปคืนเสด็จฯทันที พร้อมกับทูลถึงเรื่องที่เจอมา พระองค์ทรงพระสรวลและตรัสว่า รออีกสักประเดี๋ยวก็เห็นแล้ว หลังจากนั้นไม่มีใครกล้าลองของอีก


กระทั่งวันหนึ่งระหว่างอยู่ที่โต๊ะเสวย เสด็จเตี่ยได้ตรัสว่า แม่นาคเขาลาไปเกิดแล้ว เมื่อสิ้นเสด็จในกรมฯ สมบัติชิ้นนี้ได้ตกทอดอยู่ในการดูแลของนายเทียบ อุทัยเวช น้องชายของหม่อมแจ่มซึ่งเป็นมหาดเล็กคู่พระทัย ในตำแหน่งพลทหารเรือฝ่ายเสนารักษ์ หลังออกจากราชการได้ทำหน้าที่ดูแลศาลเสด็จเตี่ยเชิงสะพานเทวกรรมนางเลิ้ง ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของตำหนัก ปั้นเหน่งแม่นากเคยเก็บไว้ที่ศาลแห่งนี้ จนเมื่อมีการตัดถนนจึงได้โยกย้ายศาลดังกล่าวไปที่วัดโพธิ์

ปรากฏต่อมาว่าของชิ้นนี้สูญหายไป เนื่องจากเสด็จในกรมฯมีพระอาจารย์หลายท่าน ดังนั้นจึงเชื่อกันว่า วิชาของท่านที่ร่ำเรียนมานั้นน่าจะมากกว่านี้ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวทางไสยเวทของกรมหลวงชุมพรฯ ที่มีการบันทึกไว้เป็นเกร็ด โดยหม่อมเจ้าเริงจิตรแจรง พระธิดาของเสด็จในกรมฯ เท่านั้น

และนี่คือบางส่วนของตำนาน ปั้นเหน่งแม่นาค หรือที่หลายคนเรียกกันว่า กะโหลกหน้าผากแม่นาคพระโขนง ที่ถูกเล่าขานต่อ ๆ กันมา นำมาเผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ทุกๆท่าน สาธุ สาธุ เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment